
วัดสะดือเมือง
ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ตามประวัติบริเวณใจกลางเมืองเชียงใหม่มีวัดอยู่แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในบริเวณข้างศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังเก่า (หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่) และหอประชุมติโลกราช (วัด อินทขีลสะดือเมือง) วัดแห่งนี้เดิมมีชื่อว่าวัดสะดือเมือง เพราะสร้างในบริเวณกึ่งกลางของเมือง ในอดีตที่ผ่านมาวัดนี้เคยร้างและได้ฟื้นฟูขึ้นใหม่โดยชื่อว่าวัด “อินทขีลสะดือเมือง”
คำว่า “สะดือเมือง” นั้นปรากฎในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ มาตั้งแต่สมัยพญา มังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1839 พระองค์ได้กำหนดขอบเขตความกว้างและยาวของเมือง ให้สอดคล้องกับภูมิสัณฐานสูงต่ำภายใน ความกว้างและยาวของเมืองนั้นเรียกว่า “ลวงขื่อ ลวงแป๋” มีการเชิญพระสหาย คือพญางำเมือง เมืองพะเยา และพญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) เมืองสุโขทัย มาร่วมเป็นผู้พิจารณาให้คำวินิจฉัย ทั้งการลงมติกำหนดความกว้างและยาวของเมืองนั้น เอาส่วนบริเวณใจกลางเมืองเป็นจุดเล็งกำหนดขอบเขตความกว้างและยาวเมืองเชียงใหม่ เรียกว่า “ท่ากลางสายดือเมือง”
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม
เจดีย์ทรงระฆังหรือทรงกลมแบบล้านนา ขนาดฐาน 7.80 x 7.80 เมตร มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมประกอบด้วย ฐานล่างเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมรองรับฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ยกเก็จ ลวดบัวใต้องค์ระฆังแบบฐานปัทม์ในผังวงกลมซ้อนซั้นลดหลั่นกันขึ้นไป 3 ชั้น โดยแต่ละฐานเน้นเส้นหน้ากระดานนูนสูงออกมาและท้องไม้ลึกสูง มีลูกแก้วอกไก่ในแต่ละฐานสองเส้น องค์ระฆังกลม มีขนาดเล็ก เหนือขึ้นไปเป็นบัลลังก์ฐานยกเก็จ ก้านฉัตร ปล้องไฉน และปลียอด (18) 39
พระพุทธรูปปูนปั้น ประดิษฐานภายในวิหาร มีชื่อเรียกว่า “พระเจ้าขาว”40 หรือหลวงพ่อขาว จากการที่วัดอินทขีลสะดือเมืองได้ร้างลงหลายปี มีโบราณสถานที่หลงเหลืออยู่ คือเจดีย์แปดเหลี่ยมภายในหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน เจดีย์องค์ระฆังอยู่ด้ายหลังวิหาร และพระเจ้าขาวที่ประดิษฐานบนฐานซุกชี พร้อมด้วยพระพุทธรูปปูนปั้นอีกจำนวน 2 องค์อยู่ด้านหน้า ตัวอาคารวิหารร้าง มีเพียงแค่ศาลาคลุมพระเจ้าขาวเอาไว้ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นพระประธานประดิษฐานภายในวิหารขนาดใหญ่ องค์พระพุทธรูปจึงมองเห็นได้ชัดแต่ไกล อันเป็นที่มาของคำเรียก “พระเจ้าขาว” หรือ “หลวงพ่อขาว” ทั้ง “พระอุ่นเมือง” ในเวลาต่อมา
พุทธลักษณะพระพักตร์กลมรูปไข่ พระโขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรมองต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์สีแดง พระกรรณยาวเหนือพระอังสา พระนาสิกโด่ง เม็ดพระศกมีขนาดใหญ่ พระอุษณีษะคลึ่งวงกลมนูนต่ำ พระรัศมีเป็นเปลวเพลิง (บูรณะขึ้นใหม่) ครองจีวรห่มเฉียงเหนือพระอังสาขวา พระอังสานั้นค่อนข้างกว้าง ชายสังฆาฏิเป็นเขี้ยวตะขาบทอดยาวถึงพระนาภี พระหัตถ์ขวาคว่ำวางอยู่เหนือพระชานุขวา นิ้วพระหัตถ์เสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายหงายวางอยู่เหนือพระเพลา พระบาทเรียบ ประทับขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัย