
ประวัติศาสตร์เชียงใหม่
ประวัติศาสตร์ยุคทองของล้านนา ความเจริญรุ่งเรืองของเมืองเชียงใหม่ในช่วงตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 20 จนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 นำเสนอผ่านศาสนสถาน โบราณสถานร้าง อนุสรณ์สถาน สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ตามขอบเขตของพื้นที่ (ทิศเหนือจรดใจกลางเมืองเชียงใหม่) และเวลา (พ.ศ. 1835-2121)
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 1839 ที่พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ให้เป็นราชธานีศูนย์กลางแห่งอาณาจักรล้านนาได้เจริญรุ่งเรืองมายาวนานกว่า 700 ปี ทั้งด้านการเมือง การปกครอง การค้า การศาสนาตลอดจนถึงศิลปะและวัฒนธรรม ความเจริญรุ่งเรืองจากอดีตสืบมาถึงปัจจุบัน ทำให้เชียงใหม่มีความเจริญมั่งคั่งเป็นนครแห่งประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม ปรากฏเป็นอนุสรณ์สถานและกายภาพของการตั้งเมืองเชียงใหม่ กำแพงเมือง – คูเมือง ตลอดจนสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมได้แก่ ภูเขา แม่น้ำ และลำเหมือง มีการดำรงชีวิตและขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความงดงามเฉพาะตัวด้านอาคารสถาปัตยกรรม และศิลปกรรม และความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา
ความเจริญรุ่งเรืองของเมืองเชียงใหม่ในช่วงตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 20 จนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 นับเป็นยุคทองของล้านนา ในช่วงเวลานี้อาณาจักรล้านนามีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง เพราะได้รวบรวมกลุ่มบ้านเมืองต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยไว้เป็นอาณาจักรเดียวกัน มีความเจริญมั่งคั่งจากการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับดินแดนโดยรอบ และมีความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้จึงปรากฎมีวัดวาอารามเนื่องในพระพุทธศาสนาที่ล้วนแล้วแต่มีความงดงามทางศิลปะสถาปัตยกรรมอยู่เป็นอันมาก
เมืองเชียงใหม่เริ่มเสื่อมลงนับตั้งแต่ พ.ศ. 2068 เป็นต้นมา เนื่องจากเกิดการแย่งชิงอำนาจและเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น จึงทำให้บ้านเมืองอ่อนแอและเศรษฐกิจภายในตกต่ำ ความอ่อนแอดังกล่าวทำให้กองทัพพม่าสามารถยึดครองเมืองเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ. 2101 ซึ่งถือได้ว่าอาณาจักรล้านนาได้ล่มสลาย และเมืองเชียงใหม่ก็เริ่มทรุดโทรมลง การยึดครองของพม่านับตั้งแต่ พ.ศ. 2101 เป็นต้นมา คงมีความวุ่นวายและไม่เรียบร้อยอยู่ในบ้านเมืองมาโดยตลอด ทั้งนี้เนื่องมาจากการต่อสู้รบชิงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งใน พ.ศ. 2318 กองทัพพม่ายกทัพมาล้อมเมืองเชียงใหม่อยู่แปดเดือนจนเสบียงของเมืองเชียงใหม่หมด ได้กองทัพกรุงธนบุรีมาช่วยตีกองทัพพม่าจนแตกพ่ายไป แต่ไม่สามารถรักษาเมืองไว้ได้เพราะมีผู้คนน้อยและอยู่ในสภาพอดหยาก จึงได้ทิ้งเมืองเชียงใหม่ ด้วยเหตุนี้เมืองเชียงใหม่จึงกลายเป็นเมืองร้างไปเป็นเวลานานถึง 21 ปี
เมืองเชียงใหม่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่อีกครั้งใน พ.ศ. 2339 ครั้งพระยากาวิละเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้กลับเข้าไปตั้งมั่นอยู่ในเมืองเชียงใหม่และฟื้นฟูบ้านเมืองขึ้นอีกครั้ง ในการฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่นั้น ได้มีการบูรณะซ่อมแซมคูเมือง กำแพงเมือง ป้อม และประตูเมืองเมืองเชียงใหม่ครั้งใหญ่ และบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่สำคัญ ๆ เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์และมีไพร่พลจำกัด ด้วยเหตุนี้บรรดาวัดวาอารามที่มีมานับตั้งแต่ครั้งที่เมืองเชียงใหม่ยังมีความเจริญรุ่งเรืองอีกเป็นอันมากจึงยังไม่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ คงถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างอยู่เช่นนั้น แม้ว่าในเวลาต่อมาจะได้มีเจ้าผู้ครองนครและประชาชนได้พยายามฟื้นฟูวัดร้าง แต่กระนั้นก็ยังคงเหลือวัดร้างที่ยังไม่ได้รับการฟื้นฟูอีกเป็นอันมาก ดังนั้นจึงปรากฏมีซากโบราณสถานร้างกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในเมืองเชียงใหม่จำนวนมากมาจนทุกวันนี้
ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์นั้นสิ่งที่ยังคงหลงเหลือไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและอนุสรณ์สถาน คือ ลักษณะกายภาพและองค์ประกอบของเมืองเก่าเชียงใหม่ ที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในทุกวันนี้ ได้แก่ ตัวเมืองโบราณเชียงใหม่ 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 เมืองรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบด้วยคูเมืองที่มีน้ำขังตลอดปี ด้านในของคูเมืองมีกำแพงสี่ด้านก่อด้วยอิฐ ปัจจุบันกำแพงเหล่านั้นถูกรื้อทำลายไปจนเกือบหมดสิ้นแล้ว คงเหลืออยู่แต่ป้อมมุมเมืองและประตูเมือง เมืองส่วนนี้เรียกกันว่า เวียงชั้นใน ซึ่งเป็นเมืองเชียงใหม่เมื่อแรกสร้าง มีลักษณะเป็นเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมเกือบจัตุรัส มี คูน้ำและกำแพงเมืองล้อมรอบหนึ่งชั้น ขนาดกว้างประมาณ 1,500 เมตร และยาวประมาณ 1,600 เมตร คูเมืองกว้างประมาณ 20 เมตร มีน้ำขังตลอดทั้งปี กำแพงเมืองเมื่อแรกสร้างคงเป็นกำแพงดิน ต่อมาใน พ.ศ. 2060 ครั้งสมัยพระญาเมืองแก้วได้มีก่อกำแพงเมืองขึ้นใหม่ด้วยอิฐเพื่อให้มีความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น ปัจจุบันแนวกำแพงเมืองได้ถูกทำลายไปเกือบหมดแล้ว คงเหลือให้เห็นอยู่บ้างเป็นบางส่วนในบริเวณที่ติดกับประตูเมืองและป้อมมุมเมืองหรือแจ่งต่างๆ เท่านั้นซึ่งป้อมมุมเมืองหรือแจ่งของเวียง 4 ป้อม มีชื่อเรียกในปัจจุบันว่า แจ่งหัวลิน แจ่งศรีภูมิ แจ่งขะต้ำ แจ่งกู่เฮอง สำหรับประตูเมืองเมื่อแรกสร้างเมืองนั้นคงมีประตูอยู่เพียง 4 ประตู คือ ประตูหัวเวียง ประตูเชียงใหม่ ประตูเชียงเรือก และประตูสวนดอก ต่อมาได้มีการเจาะเพิ่มเติมอีกหลายประตู ปัจจุบันคงเหลือแต่ประตูที่สำคัญ ๆ เป็นหลักอยู่ 5 ประตู คือ ประตูหัวเวียงหรือประตูช้างเผือก ประตูท่าแพหรือประตูเชียงเรือก ประตูเชียงใหม่หรือประตูท้ายเวียง ประตูสวนดอก และประตูแสนปุง
ภายในกำแพงเวียงชั้นในจะเป็นพื้นที่สำคัญทั้งทางความเชื่อดั้งเดิม ทางศาสนา ทางการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจ เนื่องจากภายในกำแพงเวียงจะเป็นทั้งที่ตั้ง “หอคำ” หรือพระราชวังที่ประทับของพระมหากษัตริย์และคุ้มของเจ้านาย ตลอดจนบ้านเรือนของขุนนางและไพร่พลที่มีฝีมือประณีต รวมทั้งที่ทำการของส่วนราชการต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของเสาอินทขิลหรือหลักเมือง วัดวาอารามที่สำคัญ และตลาดของเมืองอีกด้วย ปัจจุบันพบว่าภายในเขตกำแพงเวียงชั้นในจะมีวัดอยู่ถึง 56 วัด ในจำนวนนี้จะเป็นวัดที่ไม่ร้าง 36 วัด และวัดร้าง 20 วัด อาคารเก่าแก่และย่านวัฒนธรรมที่เป็นชุมชนช่างพื้นถิ่นของเมืองเชียงใหม่จำนวนหนึ่งอีกด้วย
ส่วนที่ 2 แนวกำแพงดินที่โอบอยู่ด้านนอกของเมืองรูปสี่เหลี่ยมทางด้านทิศตะวันออกและด้านใต้ เรียกกันว่า เวียงชั้นนอก ซึ่งเป็นส่วนที่ขยายเพิ่มเติมขึ้นภายหลัง ทั้งนี้ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีของกรมศิลปากรศึกษาแนวกำแพงดินเวียงชั้นนอกในระหว่าง พ.ศ. 2539 – 2540 ที่ถูกสร้างขึ้นในระยะแรกเพื่อโอบล้อมชุมชนที่อยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศใต้และทิศตะวันออก เพื่อเป็นแนวป้องกันน้ำสร้างความเสียหายแก่ชุมชนในราวพุทธศตวรรษที่ 20 ต่อมาเมื่อเกิดศึกสงครามมีกองทัพเมืองสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยายกมาตีเมืองเชียงใหม่ แนวคันดินเหล่านี้คงได้รับการปรับปรุงให้เป็นแนวปราการป้องกันข้าศึกและได้รับการปรับปรุงเรื่อยมาจนกลายเป็นแนวกำแพงเมืองชั้นนอก
ในพื้นที่ของแนวกำแพงเวียงชั้นนอกนี้จึงเป็นชุมชนที่อยู่อาศัย ซึ่งมีวัดวาอารามทั้งที่เป็นวัดไม่ร้างและวัดร้างจำนวนประมาณ 25 แห่ง รวมทั้งอาคารเก่าแก่และย่านวัฒนธรรมที่เป็นชุมชนช่างพื้นถิ่นของเมืองเชียงใหม่ อาทิ ช่างหล่อโลหะ ช่างทำเครื่องเงิน และช่างทำเครื่องเขิน บนเส้นทางคมนาคมโบราณตามแกนเมืองทิศเหนือ ไปถึงใจกลางเมืองปรากฏถนนสายประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สะท้อนเรื่องราวทางที่เกี่ยวข้องกับบรรพกษัตริย์ โบราณสถาน อาคารสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม อนุสรณ์สถาน และประเพณีพิธีกรรมของเมืองเชียงใหม่จวบจนทุกวันนี้ อาทิ คุ้มสิงห์ – ข่วงสิงห์ อนุสาวรีย์ช้างเผือก วัดเชียงยืน ประตูหัวเวียง (ประตูช้างเผือก) แจ่งศรีภูมิ วัดเชียงมั่น วัดหัวข่วง – ข่วงเมือง วัดสะดือเมือง วัดดวงดี หออินทขิล – ไม้ยาง และวัดเจดีย์หลวงฯ ถนนสายประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมยังมีโบราณสถาน วัดวาอารามทั้งร้างและไม่ร้าง อีกหลายแหล่งที่ยังไม่ได้สำรวจศึกษาและวิเคราะห์ และประเมินคุณค่าแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและอนุสรณ์ให้สามารถบอกเล่าประวัติศาสตร์ โบราณคดี ประเพณี และพิธีกรรมสำคัญ อันมีคุณค่าต่อการเรียนรู้ อนุรักษ์ และพัฒนาให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทั้งการสร้างเครื่องมือในการสืบค้นหาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและอนุสรณ์ในเชิงความหมายผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเข้าถึงข้อมูลและการเรียนรู้สมัยใหม่ จึงเป็นที่มาของการศึกษาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและอนุสรณ์สถานบนเส้นทางด้านทิศเหนือจรดใจกลางเมืองเชียงใหม่ในครั้งนี้