
วัดเจดีย์หลวง
ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
วัดเจดีย์หลวงเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ ที่ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางของเมือง เชียงใหม่โบราณรูปสี่เหลี่ยม พระเจดีย์หลวงนับเป็นโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ขนาดของพระเจดีย์ที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้พังทลายลงมา มีขนาดฐานกว้างยาว 62 เมตร สูง 42 เมตร ประวัติความเป็นมาของวัดเจดีย์หลวงนั้นปรากฎอยู่ในเอกสารตำนานหลายฉบับกล่าวว่า เริ่มสร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา ซึ่งครองราชย์อยู่ในระหว่างกลางพุทธศตวรรษที่ 20 โดยทรงโปรดฯ ให้สร้างพระเจดีย์ครอบทับเจดีย์ที่มีมาแต่เดิมในวัดที่ชื่อว่าโชติอาราม หรือโชติการาม เพื่อ อุทิศบุญกุศลให้แก่พระเจ้ากือนาพระราชบิดา พระเจดีย์สร้างครั้งนั้นมีขนาดสูงเพียง 39 วา เมื่อแรก สร้างปรากฏชื่อในชินกาลมาลีปกรณ์เรียกว่า ราชกูฎ ต่อมาในรัชการพระเจ้าติโลกราชได้โปรดฯ ให้ ก่อสร้างขยายเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและประดิษฐานพระพุทธมหามณี รัตนปฏิมากรณ์หรือพระแก้วมรกตที่อัญเชิญจากเมืองนครลำปาง มาประดิษฐานที่ซุ้มด้านทิศ ตะวันออก ใช้เวลาก่อสร้างสามปีจึงแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2024 พระธาตุเจดีย์ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งนั้นมีขนาดสูงใหญ่ ฐานกว้างยาว 35 วา และสูงกว่าเจดีย์องค์ใดในล้านนา จึงปรากฏชื่อเรียกว่า มหา เจดีย์หลวง
ตามเอกสารทางประวัติศาสตร์ปรากฏข้อความในชินกาลมาลีปกรณ์ตอนหนึ่งว่า “ณ วันศุกร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 4 (จุลศักราช 883) พระราชาตรัสสั่งให้ขุดรากฐาน เจดีย์หลวงในวัดพระเจ้าแสนเมืองมา ครั้นแล้วโปรดให้ก่อตั้งแต่ฐานขึ้นไป เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 5 องค์เจดีย์นั้นกว้างด้านละ 8 วา 2 ศอก สูง 14 วา 2 ศอก…” เหตการณ์ที่ปรากฏในชินกาลมาลีปกรณ์ดังกล่าวอยู่ในรัชสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว ดังนั้นจึงทำให้เกิดความสับสนว่า พระเจ้าเมืองแก้วได้โปรดให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์หลวง ครั้งใหญ่อีกครั้งใน พ.ศ. 2064 แต่จากการศึกษาของผู้วิจัยได้ยืนยันให้เห็นว่าพระเจ้าเมืองแก้วมิได้ทำการบูรณะพระเจดีย์หลวงแต่ประการใด ส่วนคำว่า เจดีย์หลวง ในชินกาลมาลีปกรณ์ที่พระเจ้าเมืองแก้วทำการบูรณะนั้นจะหมายถึง พระเจดีย์วัดหัวข่วง เมืองเชียงใหม่ ต่อมาในรัชกาลของพระนางเจ้ามหาเทวีจิระประภา ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2088 ทำให้ยอดพระเจดีย์หลวงพังทลายลงมา อย่างไรก็ตามในระหว่าง พ.ศ. 2533-2535 กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะพระเจดีย์หลวงครั้งใหญ่ ผลการบูรณะครั้งนั้นได้ปรากฏให้เห็นดังสภาพที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม พระเจดีย์หลวง รูปทรงของพระเจดีย์ในสภาพก่อนพังทลายได้ว่า เป็นเจดีย์ที่มีส่วนฐานล่างเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกันสองชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานปัทม์หรือฐานบัวไม่มีลูกแก้ว เหนือฐานปัทม์ขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานค่อนข้างสูง รองรับเรือนธาตุซึ่งมีลานประทักษิณ เวียนรอบ ที่หน้ากระดานดังกล่าวมีร่องรอยของช้างปูนปั้นประดับรอบฐานจำนวน 28 ตัวทั้งสี่ด้านมีบันไดนาคแต่มีขั้นบันไดเพื่อเป็นทางขึ้นไปสู่ลานประทักษิณได้เฉพาะด้านทิศตะวันออก ส่วนด้านอื่น ๆ ที่เหลือจะก่อนเป็นอิฐฉาบปูนเรียบเป็นบันไดหลอก บนลานประทักษิณมีรั้วระเบียงก่อ อิฐเจาะช่องโปร่งอยู่โดยรอบและมีเจดีย์รายประดับอยู่ที่มุมเรือนธาตุทั้งสี่ด้าน ที่ตัวเรือนธาตุมีการย่อ เก็จและเจาะช่องซุ้มจระนำ ทำลึกเข้าไปค่อนข้างมากสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่อยู่ทั้งสี่ด้าน เหนือเรือนธาตุขึ้นไปเป็นส่วนมาลัยเถาย่อเก็จรองรับองค์ระฆังทรงกลม ซึ่งลวดบัวที่เหลืออยู่ประกอบด้วยบัวคว่ำหรือบัวถลา ลดหลั่นซ้อนกันขึ้นไปสองชั้นเหนือขึ้นไปเป็นชั้นบัวคว่ำ แปดเหลี่ยมซ้อนกันที่เหลืออยู่เพียงสองชั้น
ส่วนของเจดีย์พังทลายไปนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของมาลัยเถา องค์ระฆัง บัลลังก์ ปล้องไฉน และปลียอด ซึ่งคาดว่าลักษณะเดิมก่อนที่จะพังทลาย มาลัยเถาจะเป็นชั้นบัวคว่ำแปดเหลี่ยมซ้อนกันสามชั้น ลดหลั่นไปตามลำดับ องค์ระฆังทรงกลมขนาดเล็ก ลักษณะรูปทรงของพระเจดีย์หลวงนี้อาจเปรียบเทียงได้กับพระเจดีย์วัดเชียงมั่น ซึ่งจะเป็นเจดีย์ที่มีแบบแผนของลวดบัวใกล้เคียงกันที่สุด แต่อาจจะแตกต่างกันในบางแห่งเนื่องจากเจดีย์วัดเชียงมั่นถูกซ่อมแซมในระยะหลัง ๆ ลงมาอีกหลายครั้ง ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่คล้ายคลึงกันของพระเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวงกับเจดีย์วัดเชียงมั่นนั้น ได้ชี้ให้เห็นว่าเจดีย์ช้างล้อมทั้งสององค์นี้เป็นกลุ่มเจดีย์ที่มีแบบแผนเป็นอย่างเดียวกันและมีอายุของการก่อสร้างใกล้เคียงกัน
สำหรับลวดลายปูนปั้นประดับศาสนสถานที่เหลืออยู่บางส่วนจะปรากฏอยู่ที่ซุ้ม จระนำและเสาซุ้มด้านทิศเหนือ และที่เศียรนาคราวบันไดด้านเดียวกัน ซึ่งในส่วนของซุ้มจระนำด้านทิศเหนือนั่นจะมีลักษณะเป็นซุ้มลดลวดลายที่เหลืออยู่จะเป็นลายพันธุ์พฤกษาที่ประกอบไปด้วย ลายเครือมีก้านและใบขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายคลึงกับลายเครือที่ปรากฎในซุ้มจระนำเจดีย์วัดป่าแดง หลวง ปลายซุ้มซ้อนชั้นบนเป็นลายกระหนกผักกูด และที่เสารับซุ้มลดจะปรากฏมีการตกแต่งในส่วน ของกาบบนและกาบล่าง มีทั้งลายช่อกระหนกผักกูดซึ่งมีช่อเป็นลายดอกคล้ายลายเมฆไหลที่มุมเสา และออกลายกระหนกผักกูดสลับไปมา ที่น่าสังเกตคือบริเวณปลายกระหนกผักกูดจะมีเปลวสะบัด ทำนองเดียวกับที่พบในลายกาบของซุ้มประตูโขงวัดเจ็ดยอด ลายเปลวสะบัดแบบนี้ยังพบมาแล้วใน ลายประจำยามก้ามปูที่ท้องไม้ และเปลวของลายเปลวไข่มุกตกแต่งวิหารวัดเจ็ดยอด ลายดอกไม้มี กลีบดอกในกาบล่างของเสารับซุ้มที่พระเจดีย์หลวงนี้ ยังเปรียบเทียบได้กับลายดอกมุมเสาในกาบของ ซุ้มประตูโขงวัดเจ็ดยอด ซึ่งอาจคลี่คลายมาจากลายดอกโบตั๋นตกแต่งวิหารเจ็ดยอดนั่นเอง อันแสดง ถึงลักษณะงานปูนปั้นร่วมสมัยกันระหว่างวัดเจ็ดยอดและองค์พระเจดีย์หลวงที่สร้างบูรณะครั้งใหญ่ในรัชการพญาติโลกราชนี้
องค์พระเจดีย์หลวงที่มีสภาพเหลืออยู่ให้เห็นทุกวันนี้ จะเป็นพระเจดีย์ซึ่งลักษณะทางสถาปัตยกรรมและงานศิลปกรรมที่มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะสอดคล้องกับเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในเอกสารค่อนข้างชัดเจนว่า พระเจ้าติโลกราชโปรดให้ทำการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ขึ้นใน พ.ศ. 2021