
วัดเชียงมั่น
ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
วัดเชียงมั่นเป็นวัดที่พญามังรายโปรดให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 1839 หลังจากที่สร้างเมืองเชียงใหม่เสร็จแล้ว ในบริเวณที่ตั้งของพระราชมณเฑียรที่พญามังรายโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับชั่วคราว เพื่อควบคุมการก่อสร้างเมืองเชียงใหม่ ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในศิลาจารึกวัดเชียงมั่นความว่า “ศักราช 658 ปีรวายสัน เดือนวิสาขะ ออก 8 ค่ำ วัน 5 ไทยเมิงเปล้า ยามแตรรุ่ง แล้วสองลูกนาที ปลายสองบาท นวลัคนา เสวยนวางศ์ พฤหัสในมี นราศี พญามังรายเจ้าและ พญางำเมือง พญาร่วง ทั้งสามตน ตั้งหอนอนในที่ชัยภูมิราชมณเฑียร ขุดคือ ก่อตรีบูรทั้งสี่ด้านและก่อเจดีย์ทัดที่หอนอน บ้านเชียงมั่น ในขณะยามเดียวนั้น ที่นั้นลวดสร้างเป็นวัดหื้อ ทานแก่แก้วทั้งสาม ใส่ชื่อว่า วัดเชียงมั่นต่อบัดนี้”
สำหรับพระเจดีย์ประธานวัดเชียงมั่นนั้นปรากฏมาตั้งแต่แรกสร้าง แต่ต่อมาใน พ.ศ. 2014 พระเจ้าติโลกราชโปรดให้บูรณะพระเจดีย์วัดเชียงมั่นครั้งใหญ่ด้วยศิลาแลง เข้าใจว่าคงจะเป็นการก่อสร้างพระเจดีย์ใหม่ครอบทับองค์พระเจดีย์เดิม ซึ่งลักษณะของพระเจดีย์ที่มีฐานเป็นช้างล้อมน่าจะปรากฏขึ้นในช่วงเวลานี้ และใน พ.ศ. 2114 เมื่อครั้งที่ล้านนาตกเป็นของขัณพสีมาของพม่า สมเด็จพระมหาธรรมมิกราชเจ้า (เจ้าฟ้ามังทรา) โปรดให้พญาแสนหลวงบูรณะพระเจดีย์เชียงมั่นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหลักฐานดังกล่าวปรากฏอยู่ในสิลาจารึกวัดเชียงมั่นอีกว่า “ศักราช 933 ได้ก่อเจดีย์ก่วมทีหนึ่ง เป็นถ้วนสามที พญาแสนหลวง จำราชทาน สร้างแปลงก่อเจดีย์ วิหาร อุโบสถ” ในราวพุทธศตวรรษที่ 24 พระเจดีย์วัดเชียงมั่นได้รับการบูรณะอีกครั้งในสมัยที่พระยากาวิละ เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ แต่เข้าใจว่าคงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางสถาปัตยกรรมแต่อย่างใด
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม เจดีย์วัดเชียงมั่นตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของวิหาร มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมประกอบด้วยฐานล่างสุดเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนลดชั้นกันสองชั้น ด้านทิศตะวันออกมีบันไดทางขึ้นไปถึงเรือนธาตุ บริเวณฐานชั้นบนมีช้างปูนปั้นครึ่งตัวยืนประดับโดยรอบจำนวน 15 เชือก ช้างแต่ละเชือกแยกออกจากกันด้วยเสาหลอกผ่าครึ่งถัดขึ้นไปเป็นจากฐานช้างขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ยกเก็จรองรับเรือนธาตุ ซึ่งอยู่ในรูปผังสี่เหลี่ยมยกเก็จ มีซุ้มจระนำด้านละ 3 ซุ้ม ซุ้มจระนำกลางเป็นจระนำซุ้มลดเหนือเรือนธาตุขึ้นไปเป็นบัวถลาสองชั้นในผังสี่เหลี่ยมยกเก็จ ถัดขึ้นไปเป็นมาลัยเถาแปดเหลี่ยมซึ่งมีลักษณะเป็นหน้ากระดานบัวคว่ำซ้อนลดหลั่นกันสามชั้น และมีบัวปากระฆังรองรับองค์ระฆังกลม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ชั้นปล้องไฉน และปลียอด
เจดีย์วัดเชียงมั่นนี้ได้ปรากฏมีร่องรอยของการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด ผลของการบูรณะทำให้ลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรมเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะช้างปูนปั้นประดับฐานเจดีย์ที่ปรากฎอยู่นั้นไม่อาจนำไปศึกษาเปรียบเทียบกับที่อื่น ๆ ได้ขณะเดียวกันส่วนฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ยกเก็จรอบรับเรือนธาตุที่ค่อนข้างเตี้ย และขนาดของยกเก็จเรือนธาตุที่ตื้นตลอดจนการเพิ่ม จระนำเล็กที่ขนาบอยู่ทั้งสองด้านของจระนำกลาง จะเป็นลักษณะที่ไม่ปรากฎในเจดีย์องค์ใดในเมืองเชียงใหม่ แสดงให้เห็นถึงการได้บูรณะครอบทับในภายหลัง นอกจากนี้แล้วลวดลายปูนปั้นประดับบนบานประตูหลอกที่เป็นลายแผงกุดั่นดอกลอยน่าจะเป็นลายที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะรัตนโกสินทร์ ร่องรอยต่าง ๆ เหล่านี้น่าจะเป็นการซ่อมขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 มานี้เอง
แม้ว่าเจดีย์วัดเชียงมั่นจะได้รับการซ่อมแซมมาโดยตลอด แต่องค์ประกอบของลวดบัวพระเจดีย์องค์ดังกล่าวจะเป็นลักษณะของเจดีย์ช้างล้อม ซึ่งจะได้รับความนิยมสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 และมีแบบแผนที่ใกล้เคียงกับพระเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวง ดังนั้นจึงเชื่อว่าองค์พระเจดีย์ที่พระเจ้าติโลกราชโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใน พ.ศ. 2014 นั้นจะเป็นเจดีย์ช้างล้อมเหมือน ดังที่ปรากฏในทุกวันนี้ แต่เนื่องจากได้รับการบูรณะในเวลาต่อมาอีกหลายครั้งจึงทำให้มีรายละเอียดบางส่วนเปลี่ยนแปลงไปแต่โครงสร้างส่วนใหญ่ยังคงลักษณะเป็นเจดีย์ช้างล้อมอยู่เหมือนเดิม
องค์เจดีย์ช้างล้อมวัดเชียงมั่นจะเป็นเจดีย์ที่พระเจ้าติโลกราชโปรดให้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใน พ.ศ. 2014 แต่ได้รับการบูรณะในเวลาต่อมาอีกหลายครั้งจึงทำให้มีรายละเอียดของงานปูนปั้นประดับตกแต่งองค์พระเจดีย์เปลี่ยนแปลงไป แต่แบบแผนทางสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่เข้าใจว่าจะเป็นของเดิมมีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21