background

วัดเชียงยืน

ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติความเป็นมา

วัดเชียงยืนมีชื่อปรากฏในตำนานพงศาวดารโยนก ในรัชกาลของพระเมืองแก้ว (ครองราชย์ พ.ศ. 2038 – 2068) ว่า “…เมื่อจุลศักราช 280 ปีขาลสัมฤทธิ์ศก พ.ศ. 2061 วันเสาร์ เดือนแรม 5 ค่ำ บรรจุ พระบรมธาตุ ณ องค์พระเจดีย์ เรียกวัดฑีมาชีวะราม และในระหว่างนี้คงมีการก่อสร้างพระเจดีย์ขึ้นในวัดนี้ เพราะปรากฏในจุลศักราช 88 พ.ศ.2062 ปีเถาะ เอกศก วันอาทิตย์เดือน 8 ขึ้น 3 ค่ำ ยกฉัตรยอด เจดีย์ฑีมาชีวะราม (เชียงยืน) องค์เจดีย์นั้นสร้างขึ้นในรัชกาลพระเมืองแก้ว…” ส่วนองค์เจดีย์ปัจจุบันคงได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นภายหลัง

ในรัชกาลพระเมืองแก้วนี้ได้ปรากฏชื่อวัดเชียงยืน ในพงศาวดารโยนก ซึ่งมีความระบุไว้ว่า “ครั้นปี พ.ศ. 2089 พระไชยเชษฐา แห่งเมืองล้านช้างได้ครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อเสด็จมาถึงเมืองเชียงใหม่แล้วก่อนเข้าเมืองก็ได้เสด็จไปประทับพลับพลา ณ ข่วงวัดเชียงยืนทรงเปลื้องเครื่องต้น ทรงพระภูษาพื้นขาวและสะพักผ้าขาวถือ พานข้าวตอกดอกไม้ เทียนเงิน เทียนทอง เข้าไปทำการสักการะบูชา นมัสการพระพุทธสัพพัญญูในวิหารหลวงวัดเชียงยืนก่อนแล้วจึงเสด็จเข้าพระนคร ต่อมาได้กลายเป็นธรรมเนียมของเจ้านาย ท้าวพระยา ที่จะครองเมืองเชียงใหม่ต้องไปสักการะบูชาพระพุทธรูปในวิหารหลวงวัดเชียงยืนเสมอ

วัดเชียงยืน มีความสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ล้านนาดังกล่าวมานี้ และในสมัยที่บ้านเมืองตกอยู่ในสภาวะที่มีการจลาจลวุ่นวาย เกิดศึกสงครามกับพม่า จนกระทั่งถูกพม่ายึดครองเชียงใหม่เป็นเวลานานนั้น วัดเชียงยืนก็ตกอยู่ในสภาพตามสถานการณ์บ้านเมืองและกลายเป็นวัดร้างในระหว่างปี พ.ศ.2317-2337 เมื่อพระวชิระปราการ (กาวิละ) การขับไล่พม่าออกไปได้ และได้มาบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามเก่าในปี พ.ศ.2337 (จ.ศ.1156 ปีขาลศก) คงได้บูรณะวัดนี้ขึ้น และต่อมาคงได้มีการบูรณะขึ้นอีกหลายครั้งดังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้


ภาพ 360 องศา