
วัดดวงดี
ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
วัดดวงดี หรือในจารึกโบราณเรียกสถานที่นี้ว่า วัดต้นมกเหนือ, วัดต้นหมากเหนือ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อใด จากการศึกษาของ ฮันส์ ในหนังสือคำจารึกที่ฐานพระพุทธรูปในนครเชียงใหม่ได้พบพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ที่ฐานมีจารึกว่า ในปี พ.ศ. 2039 ได้นำพระพุทธรูปองค์นี้ไปประดิษฐานที่วัดต้นหมากเหนือ ยังไม่มีหลักฐานว่าวัดหมากเหนือกับวัดวงดีเป็นวัดเดียวกันหรือไม่ หากมิใช่วัดเดียวกันก็อาจมีผู้นำพระพุทธรูปองค์นี้มาประดิษฐานที่วัดนี้ในภายหลัง
ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่าปี พ.ศ. 2304 เกิดปัญหาการแย่งชิงอำนาจกัน ในกลุ่มเจ้าผู้ปกครองเชียงใหม่ เจ้าปัดมานิมนต์เจ้าขี้หูดพระวัดดวงดีขึ้นปกครองเมืองเชียงใหม่ ปกครองอยู่เพียงปีเดียวกองทัพพม่าก็เข้ามายึดครองเชียงใหม่กลับไปอยู่ใต้อำนาจอีกครั้ง บนแผ่นป้ายประวัติวัดเขียนไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2362 เจ้าธรรมลังกา เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 2 ได้บูรณะวัดดวงดี และในปี พ.ศ. 2472 ชาวบ้านรอบวัดร่วมกันบูรณะวัดแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม พระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ พ.ศ. 2039 ขนาดความสูง 37 นิ้ว น้ำหนัก 100,000 ทอง พุทธลักษณะพระพักตร์กลม พระขนงโก่งต่อกัน พระนาสิกแหลม พระเนตร หรี่ลงครึ่งหนึ่ง ทอดลงต่ำ แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย ส่วนเม็ดพระศกละเอียดเป็นก้นหอย ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ อุษณีษะและรัศมีเดิมสูญหายไป รัศมีรูปดอกบัวได้ทำขึ้นใหม่ พระกรรณยาวเหนือพระศอมีเส้นปล้องพระศอสามเส้น พระวรกายเกือบเท่ากับสัดส่วนของพระสิงห์ ครองจีวรห่มเฉียงเหนือพระอังสาขวา พระอังสานั้นค่อนข้างกว้าง ชายสังฆาฏิเป็นเขี้ยวตะขาบทอดยาวถึงพระนาภี นิ้วพระหัตถ์เรียวไม่เสมอกัน ปลายนิ้วพระหัตถ์งอน ประทับขัดสมาธิราบ และพระบาทเรียบ มีคำจารึกที่ฐานพระพุทธรูปข้อความว่า “ศักราชได้ 858 ตัวในปีรวายสีพระเจ้าตนนี้(หนัก) แสน (อาราธนามา) ไว้ วัดต้นหมากเหนือ แล”