
วัดอินทขีลสะดือเมือง
ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม
ตามประวัติบริเวณใจกลางเมืองเชียงใหม่มีวัดอยู่แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในบริเวณข้างศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังเก่า (หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่) และหอประชุมติโลกราช (วัด อินทขีลสะดือเมือง) วัดแห่งนี้เดิมมีชื่อว่าวัดสะดือเมือง เพราะสร้างในบริเวณกึ่งกลางของเมือง ในอดีตที่ผ่านมาวัดนี้เคยร้างและได้ฟื้นฟูขึ้นใหม่โดยชื่อว่าวัด “อินทขีลสะดือเมือง” คำว่า “สะดือเมือง” นั้นปรากฎในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ มาตั้งแต่สมัยพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1839 พระองค์ได้กำหนดขอบเขตความกว้างและยาวของเมืองให้สอดคล้องกับภูมิสัณฐานสูงต่ำภายใน ความกว้างและยาวของเมืองนั้นเรียกว่า “ลวงขื่อ ลวงแป๋” มีการเชิญพระสหาย คือพญางำเมือง เมืองพะเยา และพญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) เมืองสุโขทัย มาร่วมเป็นผู้พิจารณาให้คำวินิจฉัย ทั้งการลงมติกำหนดความกว้างและยาวของเมืองนั้น เอาส่วนบริเวณใจกลางเมืองเป็นจุดเล็งกำหนดขอบเขตความกว้างและยาวเมืองเชียงใหม่ เรียกว่า “ท่ำกลาง สายดือเมือง” ดังปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ มีความว่า
“…เจ้าพระญามังรายร่ำเพิงว่าคูจักตั้งเวียงในฐานะที่นี้ ควรระเมาเอาใจแท้แล ทิสสะ วันออกแจ่งเหนือ ค็เปนหนองอันใหย่เปนที่ช้าง มล้า งัว ควาย ลงอาบลงกินดีนัก เจ้าค็เรียก หามายังช่างไม้ทังหลายมาแล้วค็หื้อถากแตะ ซ้อมไม้ทังหลายมากนัก ค็หื้อส้างแปลงหอโรง โรงช้าง โรงมล้าแลหอปะตู จักส้างเวียงอันใหย่ จักเอาไชยภูมิไว้ท่ำกลางสายดือเมือง ว่าอั้น ค็หื้อขุดคือแลแปลงสนนจักตั้งก่อเวียง แลด้านแล ๓ พันวา ว่าอั้น พระญาพ้อยร่ำเพิงว่า คูจักส้างบ้านแปลงเมืองอันใหย่แท้ ควรคู่ใช้ไพเชิญเอาพระญางำเมือง พระญาร่วงอันเปน สหายคูมา ควรชะแลว่าอั้น แล้วค็ใช้ไพเชิญเอาสหายตน คือพระญางำเมือง พระญาร่วง มา นั้นแล
คันพระญาทัง ๒ มาแล้ว ค็เอากันตั้งแปลงวินิจฉยะ คือว่าสนาม ที่ใกล้บ่ไกลแห่ง ไชยภูมิ เพื่อหื้อเปนที่พร้อมเพียงกับด้วยกัน พระญามังรายค็มาพร้อมกับด้วยพระญาทัง ๒ แล้วกล่าวว่า ในฐานะที่นี้มีฟานเผือก ๒ ตัวแม่ลูกอยู่ในลอมตาที่นี้ แม่นหมาแล ตนทังหลาย บ่อาจจักทำร้ายได้ เปนไชยภูมิอันวิเสสแท้แล ข้าค็มักใคร่ส้างเวียงที่นี้ เอาไชยภูมิไว้ท่ำกลาง เวียง แล้วตั้งไชยภูมิไพทางใต้ ทางเหนือ วันตก วันออกแลพันวา เปนแลด้านแล ๒ พัน 88 วา ข้าร่ำเพิงฉันนี้ จิ่งหาสหายเจ้าทัง ๒ มาเปนที่พิจจรณา ควรบ่ควรเปนฉันใด เอาสหายเจ้า ทังสองเปนที่พิจจรณา ว่าอั้น
พระญางำเมืองว่า สหายจักตั้งเวียงแลด้านแล ๒ พันวา บ่ควรแล ว่าอั้น พระญาร่วง ว่า สหายเจ้าพระญางำเมืองว่านั้นค็หากแม่นแล เท่าว่าเปนฉันฉันทาคติเสีย ควรร่ำเพิงกาล สมปัตติแลกาลวิปัตติแล พายหน้าปุคละผู้มีพระหญาจักดูแตวน ว่าบ่รู้ร่ำเพิงพายหน้า พายหลังจักว่าอั้นชะแล พายหน้าหลอน อมิตตะข้าเสิก็มาแวดวังขัง หาปุคละผู้จักเฝ้าแหนบ่ ได้ บ่อ้วน บ่อเตม ค็จักยากแก่อนาคตกาละแล ข้ามักใคร่ตั้งแต่ไชยภูมิไพวันตก วันออก ใต้ เหนือ พุ่น ๕๐๐ วา แล ว่าอั้น
พระญามังรายกล่าวว่า สหายเจ้าพระญาร่วงว่านั้นค็ดีแท้แล เท่าว่าเปนโทสาคติเสีย หน้อย ๑ คำสหายเจ้าทัง ๒ นี้ คำผู้ใด ข้าค็บ่ละเสีย เท่าว่าขอหื้อเปนฉันทะด้วยชอมธัมม์ เทิอะ ว่าฉันนั้นเสนาอามาจจ์ทังหลายเพิงใจคำพระญางำเมืองนั้น ๓ ปูน มีปูน ๑ เพิงใจ คำพระญาร่วงแฅวนมาก พระญาร่วงซ้ำกล่าวว่า สุเทวรสีแลสุกกทันตรสี ค็ยังได้ฌานสมา ปัตติอภิญญามีเตชอานุภาวะ แม่นจักหื้อกว้างหมื่นโยชน์ แสนโยชน์ ค็ได้ดาย เพื่อเลงหัน อนาคตภัย เมื่อพายลูนแล ส้างเวียงละพูนจิ่งเอาหน้าหอยตวบเอาเปนประมาณดายว่าอั้น พระญามังรายได้ยินอุปปเทสเจ้ารสีทัง ๒ ส้างเวียงละพูน จิ่งร่ำเพิงดูกาลสัมปัตติติแล กาลวิปัตติ จิ่งว่า ข้าแก่สหายเจ้าทัง ๒ ผิอั้น เราจักตั้งลวงแปพันวา ลวงขื่อ ๙ ร้อยวาเทิอะ ว่าอั้น พระญาทัง 3 ค็มีฉันทาทีทัดแม่นกับด้วยกันหั้นแล พระญามังราย ค็ชวนเอาพระญา ทัง ๒ ไพสู่ที่ไชยภูมิเพื่อจักแรกตั้งหรอนอนแลตุ้มน้อยนั้นแล…
ส่วนคำว่า “อินทขีล” นั้นปรากฏในสมัยพระเจ้ากาวิละปี พ.ศ. 2343 ครั้งสร้างหออินทขีล และก่อรูปเทวฤษียักษ์กุมภัณฑ์สองตนไว้ ณ วัดโชติการาม (เจดีย์หลวง) รวมถึงก่อรูป ช้างเผือกไว้หัวเวียงสองตัว มีชื่อปราบจักรวาฬและปราบเมืองมารเมืองยักษ์ พร้อมทั้งตั้งชื่อเรียกเมืองเชียงใหม่ว่า “เมืองรัตตนติงสาอภินวปุรี” ดังปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ มีความว่า “…พระเปนเจ้าทัง 3 พระองค์พี่น้องพร้อมกันใส่ชื่อเมืองแถมใหม่ หื้อเปน ชัยชนะแก่ข้าศึกสัตรูว่า เมืองรัตตนติงสาอภินวปุรีแล้วเถิงเดือน 7 ออก 11 ฅ่ำ วัน 7 ได้ก่อ รูปช้างเผือกสองตัวไว้ทางหัวเวียง ตัวเบ่นหน้าไปหนเหนือชื่อปราบจักรวาฬ ตัวเบ่นหน้า ไปวันตกชื่อปราบเมืองมารยักข์แล้วค็ก่อรูปกุมภัณฑ์สองตนไว้หน้า วัดโชติการาม แลก่อ รูปสุเทวพระรสีใกล้วันตกแห่งอินทขีล ในสักราชเดียวนั้นแล…”
อินทขีลได้ปรากฏในสมัยพระยากาวิละทั้งมีพิธีบูชาเสาอินทขีลนี้ 7 วัน 7 คืน สืบทอดกันมา ทุก ๆ ปี ในภายหลังเรียกประเพณีนี้ว่า “ประเพณีใส่ขันดอกอินทขิล” กำหนดเวลาในช่วงเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน หรือเรียกว่า “เดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก” หรือเริ่มพิธีในวันข้างแรม 12 ค่ำ เดือน 8 เหนือ แล้วออกวัน ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 เหนือ นัยยะแห่งคำว่า อินทขีลจึงได้ถูกนำมาเรียกคู่กับ สะดือเมือง อีกทั้งเรียกโบราณสถานบริเวณใจกลางเมืองว่า “วัดอินทขีลสะดือเมือง” ทั้ง ๆ ที่สองคำนี้ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่าต่างยุคสมัยกัน สร้างความสับสนเป็นอย่างยิ่ง หากพิจาณา ข้อความในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่โดยละเอียดแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าสะดือเมืองที่เรียกบริเวณตรงใจ กลางเมืองเชียงใหม่นั้น ปรากฏขึ้นในปี พ.ศ. 1839 สมัยพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ ส่วนคำว่า อินทขีล นั้นปรากฏในปี พ.ศ. 2343 สมัยพระเจ้ากาวิละ สร้างเสาอินทขีลไว้ ณ วัดเจดียหลวง รวมถึง การเล่าขานไปในทำนองเดียวกันว่า พระยากาวิละได้ย้ายเสาอินทขีลจากวัดสะดือเมืองมาไว้ยังวัด เจดีย์หลวง ส่วนการสร้างวิหารวัดอินทขีลนั้นระบุปีที่สร้าง พ.ศ. 2347 คำว่า “อินทขีลสะดือเมือง” จึงมักจะใช้เรียกปะปนกันก่อความสัปสนในเชิงความหมายและห้วงเวลาทางประวัติศาสตร
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม เจดีย์ทรงระฆังหรือทรงกลมแบบล้านนา ขนาดฐาน 7.80 x 7.80 เมตร มีอายุราว พุทธศตวรรษที่ 20 มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมประกอบด้วย ฐานล่างเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมรองรับ ฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ยกเก็จ ลวดบัวใต้องค์ระฆังแบบฐานปัทม์ในผังวงกลมซ้อนซั้นลดหลั่นกันขึ้นไป 3 ชั้น โดยแต่ละฐานเน้นเส้นหน้ากระดานนูนสูงออกมาและท้องไม้ลึกสูง มีลูกแก้วอกไก่ในแต่ละฐาน สองเส้น องค์ระฆังกลม มีขนาดเล็ก เหนือขึ้นไปเป็นบัลลังก์ฐานยกเก็จ ก้านฉัตร ปล้องไฉน และปลี ยอด
พระพุทธรูปปูนปั้น ประดิษฐานภายในวิหาร มีชื่อเรียกว่า “พระเจ้าขาว” หรือ หลวงพ่อขาว จากการที่วัดอินทขีลสะดือเมืองได้ร้างลงหลายปี มีโบราณสถานที่หลงเหลืออยู่ คือเจดีย์ แปดเหลี่ยมภายในหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน เจดีย์องค์ระฆังอยู่ด้ายหลังวิหาร และ พระเจ้าขาวที่ประดิษฐานบนฐานซุกชีพร้อมด้วยพระพุทธรูปปูนปั้นอีกจำนวน 2 องค์อยู่ด้านหน้า ตัวอาคารวิหารร้าง มีเพียงแค่ศาลาคลุมพระเจ้าขาวเอาไว้ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นพระประธาน ประดิษฐานภายในวิหารขนาดใหญ่ องค์พระพุทธรูปจึงมองเห็นได้ชัดแต่ไกล อันเป็นที่มาของคำเรียก “พระเจ้าขาว” หรือ “หลวงพ่อขาว” ทั้ง “พระอุ่นเมือง” ในเวลาต่อมา
พุทธลักษณะพระพักตร์กลมรูปไข่ พระโขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรมองต่ำ พระ นาสิกโด่ง พระโอษฐ์สีแดง พระกรรณยาวเหนือพระอังสา พระนาสิกโด่ง เม็ดพระศกมีขนาดใหญ่ พระ อุษณีษะคลึ่งวงกลมนูนต่ำ พระรัศมีเป็นเปลวเพลิง (บูรณะขึ้นใหม่) ครองจีวรห่มเฉียงเหนือพระอังสา ขวา พระอังสานั้นค่อนข้างกว้าง ชายสังฆาฏิเป็นเขี้ยวตะขาบทอดยาวถึงพระนาภี พระหัตถ์ขวาคว่ำ วางอยู่เหนือพระชานุขวา นิ้วพระหัตถ์เสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายหงายวางอยู่เหนือพระเพลา พระบาท เรียบ ประทับขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัย