background

วัดมณเฑียร

ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติความเป็นมา

มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1974 ตรงกับรัชกาลพระเจ้าสามฝั่งแกน ในเวลาต่อมาสมัยพระเจ้าติโลกโปรดให้รื้อพระราชมณเฑียรของพระองค์มาสร้างเป็นกุฏิถวายพระมหาญาณ คัมภีรเถระ หนึ่งในพระสงฆ์ที่เคยเดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาที่ลังกาในปลายสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนและเมื่อกลับมาจากลังกาก็ได้สถาปนาพุทธศาสนานิกายป่าแดงหรือนิกายลังกาวงศ์ใหม่ขึ้นในล้านนา จึงพระราชทานนามว่า “วัดราชมณเฑียร” ต่อมาเรียกว่า “วัดมณเฑียร” วัดราชมณเฑียรนี้นับว่าเป็น วัดแรกที่พระเจ้าติโลกราชได้สร้างขึ้นในรัชสมัยที่พระองค์ทรงครองราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เชียงใหม่ ดังข้อความที่ปรากฏในตำนานศาสนาตอนหนึ่งว่า “….เมื่อพ.ศ. 1974 เดือน 7 ในปีนั้น ชาวเมืองทั้งหลายพร้อมกันปลงศพ พระยาสามฝั่งแกนแล้วจึงอาราธนาเอาลูกท่าน ชื่อท้าวลกมากิน เมืองเชียงใหม่ เดือน 8 ออก 5 ค่ำ เม็งวันอังคาร ได้ราชาภิเษกชื่อว่า อาทิตตราชดิลก หรือ ติโลกราช และท่านรู้ข่าวว่าพระมหาญาณคัมภีร์เถรเจ้า ไปเอาศาสนามารอด ท่านก็ยินดีมากนักและพระยา อาทิตย์ และพระมหาเทวี จึงพร้อมกันให้รื้อหอราชมณเฑียรหลังเก่าไปสร้างที่พระมหาเถรเจ้าจักอยู่ และได้ชื่อว่าวัดราชมณเฑียร….”

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม ศิลปกรรมสำคัญของวัดมณเฑียร คือ พระพุทธสำริดปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ พ.ศ. 2035 ขนาดความสูง 34 นิ้ว ลักษณะพระพักตร์ยาวลีพระขนงโก่งต่อกัน พระนาสิกแหลม พระเนตรเรียวและหรี่ลงครึ่งหนึ่ง ทอดลงต่ำ แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย ส่วนพระศกเป็นก้นหอยไม่เล็กไม่ใหญ่ อุษณีษะสูง รองรับรัศมีเปลวเพลิง (อาจมิใช่ของเดิม) พระกรรณยาวเหนือพระศอ มีเส้นปล้องพระศอ สามเส้น พระวรกายยืดสูงมีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย ครองจีวรห่มเฉียงเหนือพระอังสาขวา พระอังสา นั้นค่อนข้างกว้าง ชายสังฆาฏิเป็นเขี้ยวตะขาบทอดยาวถึงพระนาภีนิ้วพระหัตถ์เรียวไม่เสมอกัน ประทับขัดสมาธิราบและพระบาทเรียบ  มีคำจารึกบอกปีที่สร้างไว้ใต้ฐานพระพุทธรูป ความว่า “ศักราช 854 ปีเต่าไจ้” หมายถึง จุลศักราช 854 ปีเต่าไจ้พ.ศ. 2035


แกลเลอรี่ภาพ