background

วัดแสนเมืองมาหลวง (หัวข่วง)

ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาที่ปรากฏอยู่ในเอกสารนั้นไม่เคยพบชื่อของวัด “หัวข่วง” อยู่ใน เอกสารตำนานใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมืองเชียงใหม่ในช่วงตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 25 ขึ้นไป แต่ชื่อ หัวข่วงนี้จะปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในเอกสารตำนานครั้งสมัยเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนคร เชียงใหม่ ลำดับที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2403 ดังมีข้อความว่า “…ศักราช 1222 ปีวอกโทศกวันพฤหัสบดี เดือนเจ็ด ขึ้นห้าค่ำ ฤกษ์สร้างวิหาร วัดสุพรรษ วันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรมสิบสามค่ำ แห่สวาธุเจ้าสิทธิมาครอง วัดหัวข่วงแสน เมืองมาหลวง วันแรมสี่ค่ำเดือนสี่ หล่อระฆังใหญ่ทองหนักสองล้านเก้าหมื่นห้าพันหกร้อย ตำลึง สร้างธรรมาสน์อาสน์สวดและหีบพระธรรมปิดทองคำเปลว สิ้นทองคำเปลว 51,120 แผ่น สร้างพระพุทธรูปสลักด้วยงาช้างสองกิ่งเป็นรูปพระ 72 องค์ สร้างพระทองคำองค์หนึ่ง หนัก 2000 บาท มีแตรทองคำหนัก 122 บาท สร้างพระเงินองค์หนึ่งหนัก 1000 บาท 73 พระพุทธรูปที่สร้างนี้ประดิษฐานไว้ ณ วัดพระธาตุจอมทอง แต่ธรรมาสน์อาสน์สวดไว้ ณ วัด พระสิงห์ พระงาช้างกับหีบธรรมไว้ ณ วัดแสนเมืองมาหัวข่วง…”

เกี่ยวกับชื่อวัดแสนเมืองมานี้เรื่องราวตรงกันปรากฏอยู่ในเอกสารสองฉบับคือ ชินกาลมาลีปกรณ์ และพงศาวดารโยนก กล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์ในวัดชื่อ วัดพระเจ้าแสนเมืองมา หรือวัดลักษณบุราคมาราม เมื่อราว พ.ศ. 2064 ครั้งรัชการพระเจ้าเมืองแก้ว มีข้อความว่า

“ …ณ วันศุกร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 4 (จุลศักราช 883) พระราชาตรัสสั่งให้ขุดรากฐาน เจดีย์หลวง ในวัดพระเจ้าแสนเมืองมา ครั้นแล้วโปรดให้ก่อตั้งแต่ฐานขึ้นไป เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 5 องค์เจดีย์กว้างด้านละ 8 วา 2 ศอก สูง 14 วา 2 ศอก….. พระราชาและ พระราชเทวี พร้อมด้วยพระมาตุฉาเทวีและคณะสงฆ์ 3 นิกาย มีพระมหาเถรราชครูเป็น ประมุข ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในองค์เจดีย์หลวงในวัดที่พระเจ้าแสนเมืองมาทรง สร้าง เมื่อวันพุธ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 9 จันทร์เสวยบุบพาสาฬะนักษัตร สิงคยาม…” และ “…วันศุกร์ เดือนสี่ ขึ้นสิบค่ำ ให้ขุดทำราก เจดีย์ลักษณะบุราคมาราม ครั้นถึง วัน อาทิตย์ เดือนห้า ขึ้นสิบค่ำ ปีมะเส็ง ตรีศก จุลศักราช 883 ลงมือก่อเจดีย์กว้าง 8 วา สูง 14 วา 2 ศอก แล้วให้สร้างคัมภีร์พระไตรปิฏกไว้สำหรับหอมณเฑียรธรรมด้วย…”

จากการศึกษาของ สุรพล ดำริห์กุล เกี่ยวกับเรื่องราวของวัดแสนเมืองมาหลวง ได้ เสนอไว้ในหนังสือข่วงเมืองและวัดหัวข่วง องค์ประกอบสำคัญของเมืองในดินแดนล้านนาว่าใน รายละเอียดของชื่อวัดแห่งนี้ที่ยังใช้ชื่อว่า วัดแสนเมืองมาหัวข่วงหรือวัดหัวข่วงแสนเมืองมาหลวง ตลอดจนหลักฐานสำคัญที่ปรากำอยู่ในวัดแห่งนี้ ซึ่งได้แก่ พระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ ที่ประดิษฐานอยู่ ในพระอุโบสถ มีนามว่า “พระเจ้าแสนเมืองมาหลวง” จึงคาดว่าวัดพระเจ้าแสนเมืองมาหรือ วัดลักษณบุราคมารามที่ปรากฎอยู่ในเอกสารตำนานมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 นั้น ก็คือวัดหัวข่วงหรือวัดหัวข่วงแสนเมืองมาหลวง ความเห็นดังกล่าวนี้จะสอดคล้องกับผลงานของสงวน โชติสุขรัตน์ที่ กล่าวว่า วัดพระเจ้าแสนเมืองมาหรือวัดลักษณะปุราคมารามก็คือ วัดหัวข่วง นั่นเอง

จากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในเอกสารตำนานต่าง ๆ ทำให้สามารถประมวลเรื่องราว ของวัดหัวข่วงหรือวัดหัวข่วงแสนเมืองมาหลวง เมืองเชียงใหม่ได้ว่า เดิมที่วัดแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า วัดพระเจ้าแสนเมืองมา หรือวัดแสนเมืองมาหลวง คาดว่าอาจจะเป็นวัดที่พระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ทรงโปรดให้สถาปนาขึ้นในราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 20 หรือพระเจ้าสามฝั่งแกนเป็นผู้สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเจ้าแสนเมืองมา พระราชบิดา ดังนั้นวัด แห่งนี้จึงได้นามว่า วัดพระเจ้าแสนเมืองมา หรือวัดแสนเมืองมาหลวง

ต่อมาใน พ.ศ. 2064 พระเมืองแก้วทรงโปรดให้สร้างพระมหาเจดีย์ลักขปุราคมาราม พร้อมบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขึ้นไว้ในวัดแห่งนี้ และใน พ.ศ. 2174 พระเจ้าสุทโธธรรมราชา กษัตริย์ เมืองหงสาวดี ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ได้ การสงครามครั้งนั้นได้สร้างความเสียหายให้กับ บ้านเมืองและวัดวาอารามเป็นอันมาก ดังนั้นใน พ.ศ. 2177 พระเจ้าสุทโธธรรมราชาจึงโปรดให้บูรณะ วัดวาอารามในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งก็รวมทั้งวัดแสนเมืองมาหลวงด้วย ดังปรากฏหลักฐานในตำนานพระ ธาตุจอมทองว่า

“…ถึงปี พ.ศ.2177 เดือน8 เพ็ญ พระเจ้าสุทโธฯ ยิ่งมีศรัทธาหยั่งเชื่อในคุณพระแก้ว ทั้งสามประการ จึงมีเงินหมื่น คำพัน ให้เสนานำคนทำงานลงมาเชียงใหม่ ผู้เป็นนายงาน 20 คน ผู้เป็นลูกน้อง นอกนั้นเครื่องมือทำการตีครอบทุกคน ให้มาสร้างวัด 3 วัด อันได้รื้อ ถอนเสียเมื่อมารบยึดเอาเมืองได้นั้น คือ วัดแสนเมืองมาหลวง หนึ่ง วัดอาภัย หนึ่งวัด สุทธาวาส หนึ่ง อันมีอยู่ในเวียงเชียงใหม่…”

หลังจากนั้นเรื่องราวของวัดแสนเมืองมาหลวงก็ไม่ปรากฏอีกเลย จนกระทั่งเข้าสู่ยุค ฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่หลังจากที่ร้างไปเป็นเวลานาน ปรากฏหลักฐานในบันทึกพระยาหลวงสามล้าน ซึ่ง ได้บันทึกเหตุการณ์ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2339 – พ.ศ. 2398 มีความตอนหนึ่งกล่าวว่า พระยาหลวง สามล้านพร้อมทั้งภรรยาและลูกชายหญิงได้ถวายทานสร้างวิหารวัดแสนเมืองมาขึ้นหลังหนึ่ง ต่อมาใน พ.ศ. 2403 ครั้งสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้นิมนต์พระสวาธุเจ้าสิทธิมา เป็นเจ้าอาวาส กับได้สร้างพระงาช้างกับหีบพระธรรมถวาย และปีถัดมาได้ฉลองหอไตรในวัดแห่งนี้ ชื่อของวัดที่ปรากฏในครั้งนั้นคือ วัดหัวข่วงแสนเมืองมาหลวงกับวัดแสนเมืองมาหัวข่วง ซึ่งก็คือชื่อของ วัดที่เรียกกันเป็นสามัญว่า “วัดหัวข่วง” สืบต่อมาจนทุกวันนี้

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม พระธาตุเจดีย์ วัดหัวข่วงแสนเมืองมาหลวงเป็นพระเจดีย์ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ที่มี แบบแผนทางสถาปัตยกรรมงดงามมากแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ ลักษณะเป็นเจดีย์สิบสองเหลี่ยม องค์ระฆังกลมแบบอิทธิพลสุโขทัย ซึ่งเป็นพัฒนการที่คลี่คลายมาจากเจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่ เจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่นั้นเป็นเจดีย์ที่มีลักษณะรูปทรงคล้ายคลึงกับเจดีย์ทรงกลมแบบพื้นเมือง จะแตกต่างกันที่ชั้นมาลัยเถา ซึ่งเจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่นั้นมีมาลัยเถาเป็นแบบบัวถลาซ้อน ลดหลั่นกันขึ้นไปสาม่ชั้น อันเป็นแบบแผนของเจดีย์ในศิลปะสุโขทัย เจดีย์รูปทรงนี้ปรากฏเป็นที่นิยมสร้างขึ้นในเมืองเชียงใหม่เป็นจำนวนมาก เชื่อว่า น่าจะมีพัฒนาการเกิดขึ้นที่เมืองเชียงใหม่ ดังนั้นจึงมีนักวิชาการกำหนดเรียกชื่อเจดีย์ในรูปแบบนี้ว่า “เจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่” แบบแผนของพระธาตุเจดีย์วัดหัวข่วงประกอบด้วย ฐานล่างสุดเป็นฐานเขียงสิบสอง เหลี่ยม สามชั้นตั้งซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์สิบสองเหลี่ยมขนาดใหญ่ที่ท้องไม้มี ลูกแก้วอกไก่หนึ่งเส้น ถัดขึ้นไปสามชั้นที่มีปูนปั้นรูปกลีบบัวคว่ำบัวหงายหรือที่เรียกว่า บัวปากฐาน ประดับอยู่โดยรอบก่อนที่จะถึงหน้ากระดานสิบสองเหลี่ยมแคบ ๆ ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปสามชั้น มาลัยเถายังคงเป็นสิบสองเหลี่ยม มีลักษณะเป็นแบบบัวถลาสามชั้นซ้อนกันขึ้นไปตามแบบแผนของ เจดีย์ทรงกลมแบบเชียงใหม่ เหนือขึ้นไปเป็นองค์ระฆังจะเป็นฐานกลมเตี้ย มีก้านฉัตร ปล้องไฉน ปลี ยอด ตั้งแต่ปล้องไฉนขึ้นไปจนถึงปลียอดมีแผ่นทองจังโกหุ้ม ลงรักปิดทองและฉัตรประดับ แม้ว่าแบบแผนของเจดีย์ดังกล่าวนี้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับเจดีย์ทรงกลมแบบ เชียงใหม่ที่เริ่มปรากฏขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 แต่เจดีย์อง์นี้ก็มีหลาย ๆ ส่วนที่แสดงถึงพัฒนาการ ที่คลี่คลายไปมากแล้ว อาทิผังของเจดีย์ที่เป็นสิบสองเหลี่ยม ซึ่งนิยมสร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ดังตัวอย่างเช่น เจดีย์พระธาตุดอยสุเทพ กับเจดีย์วัดชมพู และส่วนฐานที่ปรับเปลี่ยนเป็นฐาน เขียงรับฐานปัทม์ที่มีลูกแก้วอกไก่ประดับเพียงเส้นเดียว ดังนั้นจึงคาดว่าเจดีย์องค์นี้น่าจะเป็นพระธาตุ เจดีย์ที่พระเจ้าเมืองแก้วโปรดให้สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.2064 ส่วนรูปแบบที่ปรากฏในทุกวันนี้นั้นส่วนหนึ่งคงเป็นผลจากการบูรณะใน พ.ศ. 2177 โดยพระเจ้าสุทโธธรรมราชาที่โปรดให้ช่างมาทำการ บูรณะวัดต่าง ๆ รวมทั้งวัดแสนเมืองมาหลวงที่เสียหายจากภัยสงคราม

พระเจ้าแสนเมืองมาหลวง พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถของวัดหัวข่วงแสนเมืองมา หลวงนามว่า “พระเจ้าแสนเมืองหลวง” เป็นพระพุทธรูปสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง 75 นิ้ว สูง 104 นิ้ว ไม่ปรากฏประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่พุทธลักษณะที่ปรากฎเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง ปาง มารวิชัย พระพักตร์เป็นรูปไข่ พระหนุป้าน พระขนงโก่งเป็นสัน พระเนตรเรียวเหลือบลงต่ำ พระ นาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียวบาง ขมวดพระเกศาเล็กเรียวติดกันแน่น แนวขมวดพระเกศาหยักลงมาตรงก ลางพระนลาฎ ไม่มีแนวเส้นไรพระศก พระรัศมีเป็นรูปเปลวไฟ ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังศาขวา ชายพระสังฆาฏยาวลงมาจรดพระภีปลายตัดตรง ด้านล่างมีแนวเส้นรัดประคตคาดเป็นแนวยาวขึ้น ตรงกลางพระนาภี ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวไล่เลี่ยกัน

พุทธลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้คล้ายคลึงกับพระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริด วัด พวกหงส์ ซึ่งหล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2036 และพระเจ้าเก้าตื้อ ซึ่งพระเจ้าเมืองแก้วโปรดให้หล่อขึ้นใน พ.ศ. 2057 แต่พระพุทธรูปทั้งสององค์ที่นำมาเปรียบเทียบมีไรพระศกปรากฎอยู่บนกรอบพระนลาฎแล้ว แนวเส้นไรพระศกดังกล่าวนี้ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในกลุ่มพระพุทธรูปศิลปะล้านนาระยะที่สาม หลักฐานที่เก่าที่สุดและมีจารึกกำกับคือ พระพุทธรูปปามารวิชัยสำริดที่วัดพระเจ้าเม็งราย ซึ่งหล่อขึ้น ใน พ.ศ. 2024 ส่วนพระพุทธรูปปางมารวิชัยวัดหัวข่วงนี้ไม่มีแนวเส้นไรพระศก และยังปรากฏอิทธิพล จากพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยหมวดใหญ่อยู่มาก โดยเฉพาะเค้าพระพักตร์ทางด้านข้างและนิ้วพระ หัตถ์ทั้งสี่ที่ยาวไล่เลี่ยกันนั้นคงได้รับอิทธิพลทางด้านคตินิยมเกี่ยวกับลักษณะมหาบุรุษที่พระมหาธรรม ราชาลิไททรนำมาใช้ในการสร้างพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดพระพุทธชิวนราช พระพุทธชินสีห์ และพระ ศากยมุนี อิทธิพลดังกล่าวได้ส่งผ่านมายังล้านนาในราวต้นรัชกาลของพระเจ้าติโลกราช ด้วยเหตุผล ดังกล่าวนี้พระพุทธรูปองค์นี้ควรสร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งเชื่อว่าพระเจ้าสามฝั่งแกน เป็นผู้สร้างเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแต่พระเจ้าแสนเมืองมา พระราชบิดาจึงได้รับนามว่า “พระเจ้า แสนเมืองมาหลวง” จัดเป็นพระพุทธรูปสำริดที่งดงามมากองค์หนึ่งของเมืองเชียงใหม่

พระพุทธรูปสำริด วัดแสนเมืองมาหลวง (หัวข่วง) พระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ พ.ศ. 2044 ขนาดความสูง 27 นิ้ว พุทธลักษณะพระพักตร์กลมคล้ายคลึงกับพระเศรียรพระเจ้าเก้าตื้อ วัดสวนดอก แต่มีขนาดเล็กกว่า มาก พระขนงโก่งต่อกัน พระนาสิกแหลม พระเนตรหรี่ลงครึ่งหนึ่ง ทอดลงต่ำ แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย ส่วนเม็ดพระศกเป็นก้นหอยขนาดใหญ่ราวกับดังพระศกของพระพุทธสิหิงค์ หรือ พระสิงห์อุษณีษะ นูนสูงรองรับรัศมีรูปดอกบัว พระกรรณยาวเหนือพระศอ ส่วนปลายพระกรรมทั้งสองข้างเรียบ มีเส้น ปล้องพระศอสามเส้น พระวรกายมีความเท่ากับสัดส่วนของพระสิงห์ครองจีวรห่มเฉียงเหนือพระ อังสาขวา พระอังสานั้นค่อนข้างกว้าง ชายสังฆาฏิเป็นเขี้ยวตะขาบทอดยาวถึงพระนาภี นิ้วพระหัตถ์ เรียวไม่เสมอกัน ปลายนิ้วพระหัตถ์งอน ประทับขัดสมาธิราบ และพระบาทเรียบ  มีข้อความ จารึกใต้ฐานพระพุทธรูป ความว่า “ศักราช 863 มหาเถระเจ้าท..อง ชวนนักบุญทั้งหลายคือเจ้าสิทธิ เจ้าห้าสิบต้าเพี้ยน เจ้าท้านะสี้ (และ) เจ้าขุนขวัน สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ (หนัก) 35,000 ทอง”

 


แกลเลอรี่ภาพ

ภาพ 360 องศา